ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ผู้ประกอบการไทยทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน ประสบกับปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับโลก จำนวนแรงงานในประเทศได้รับผลกระทบโดยตรงกว่า 9.88 ล้านคน มีอัตราการว่างงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง การส่งออกลดลงและความต้องการบริโภคของภาคเอกชนลดลง ซึ่งปัจจัยทั้งหมดส่งผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2563 กว่าร้อยละ 5.3 และคงส่งผลกระทบต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2564 - 2565 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง การจ้างงานลดลง นักศึกษาจบใหม่ตกงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามแนววิถี New Normal เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชนให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หรือสามารถเริ่มต้นประกอบธุรกิจแนวสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดอาชีพใหม่ สร้างรายได้ให้กับนักศึกษาที่จบใหม่หรือผู้ว่างงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริม สนับสนุน และ พัฒนาผู้ประกอบการ สถานประกอบการ บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงมีแนวทางสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุค New Normal ให้มีศักยภาพ ตั้งแต่การจัดตั้งธุรกิจสร้างสรรค์ การปรับปรุงแผนกกลยุทธ์และแนวทางการประกอบธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเชื่อมโยงเพื่อส่งเสริมการตลาด สนับสนุนปัจจัยเอื้อในการประกอบธุรกิจ และสนับสนุนการเข้าแหล่งเงินทุนเป็นต้น
กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงจัดทำโครงการการสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และบุคลากรในสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ รวมถึงนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ และผู้ว่างงานให้มีความสามารถในการจัดตั้งธุรกิจ ผลิต ออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างสรรค์อัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ (Product Design) ที่จะช่วยเตรียมความพร้อม เสริมแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการ ด้วยผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่า นำพาให้เกิดรายได้ ลดค่าใช้จ่าย อำนวยความสะดวกต่อการผลิต เอื้อต่อการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ อันก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและสร้างความมั่นคงในเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
กลุ่มเป้าหมาย SMEs (กิจการ) (ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นภาคการผลิต) ที่จดทะเบียนนิติบุคคล ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์ ของที่ระลึก อาหารแปรรูป เกษตรแปรรูป อุตสาหกรรม S-Curve อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือสาขาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
คุณสมบัติ
พื้นที่ดำเนินงาน
กรุงเทพฯ ปริมณฑล และทั่วประเทศ