ความรู้และการออกแบบ

หน้าหลัก > ความรู้และการออกแบบ > สิ่งที่ต้องมีบนบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4 / 9

สิ่งที่ต้องมีบนบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4 / 9

05 November 2021

สิ่งที่ต้องมีบนบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 4 / 9

พระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543

-----------------------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2543

เป็นปีที่ 55 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 35 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้  โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า "เครื่องหมาย" และคำว่า "อธิบดี" ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

""เครื่องหมาย" หมายความว่า ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน

"อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

มาตรา 4 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า "พนักงานเจ้าหน้าที่" ระหว่างคำว่า "ผู้ได้รับอนุญาต" และ"นายทะเบียน" ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

""พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้"

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจการอื่น กับออกประกาศ ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้"

มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นสาระ สำคัญดังต่อไปนี้ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ

(1) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง

(2) คำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

(3) กลุ่มของสีที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ หรือตัวหนังสือ ตัวเลข หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น

(4) ลายมือชื่อของผู้ขอจดทะเบียนหรือของเจ้าของเดิมของกิจการของผู้ขอจดทะเบียน หรือลายมือชื่อของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว

(5) ภาพของผู้ขอจดทะเบียนหรือของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว หรือในกรณีที่บุคคลนั้นตายแล้วโดยได้รับอนุญาตจากบุพการี ผู้สืบสันดาน และ
คู่สมรสของบุคคลนั้น ถ้ามี แล้ว

(6) ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น"

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 8 เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ห้ามมิให้รับจดทะเบียน

(1) ตราแผ่นดิน พระราชลัญจกร ลัญจกรในราชการ ตราจักรี ตราเครื่องราช
อิสริยภรณ์ ตราประจำตำแหน่ง ตราประจำกระทรวง ทบวง กรม หรือตราประจำจังหวัด

(2) ธงชาติของประเทศไทย ธงพระอิสริยยศ หรือธงราชการ

(3) พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อ พระนามาภิไธยย่อ หรือนามพระราชวงศ์

(4) พระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท

(5) ชื่อ คำ ข้อความ หรือเครื่องหมายใด อันแสดงถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี
รัชทายาท หรือพระราชวงศ์

(6) ธงชาติหรือเครื่องหมายประจำชาติของรัฐต่างประเทศ ธงหรือเครื่องหมายขององค์การระหว่างประเทศ ตราประจำประมุขของรัฐต่างประเทศ เครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ หรือชื่อและชื่อย่อของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ  หรือองค์การระหว่างประเทศนั้น

(7) เครื่องหมายราชการ เครื่องหมายกาชาด นามกาชาด หรือกาเจนีวา

(8) เครื่องหมายที่เหมือนหรือคล้ายเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือเครื่องหมายอื่นใดอันได้รับเป็นรางวัลในการแสดงหรือประกวดสินค้าที่รัฐบาลไทย ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐของประเทศไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศได้จัดให้มีขึ้น เว้นแต่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้รับเหรียญ ใบสำคัญ หนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือเครื่องหมายเช่นว่านั้น เป็นรางวัลสำหรับสินค้านั้น และใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้านั้น แต่ทั้งนี้ต้องระบุปีปฏิทินที่ได้รับรางวัลด้วย

(9) เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย

(10) เครื่องหมายที่เหมือนกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือคล้ายกับเครื่องหมายดังกล่าวจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม

(11) เครื่องหมายที่คล้ายกับ (1) (2) (3) (4) (5) (6) หรือ (7)

(12) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

(13) เครื่องหมายอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด"

มาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

"ในกรณีที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า หากคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นไปตามที่กำหนดในอนุสัญญา  หรือความตกลงระหว่างประเทศดังกล่าว ให้ถือว่า
คำขอดังกล่าวเป็นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัตินี้"

มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 28 บุคคลใดได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้นอกราชอาณาจักร ถ้ายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นในราชอาณาจักรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก บุคคลนั้นจะขอให้ถือว่าวันที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก เป็นวันที่ได้ยื่นคำขอในราชอาณาจักรก็ได้ หากบุคคลนั้นมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

(2) มีสัญชาติของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรือ

(3) มีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้สิทธิในทำนองเดียวกันแก่บุคคลสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

(4) มีภูมิลำเนา หรือประกอบอุตสาหกรรม  หรือพาณิชยกรรมอย่างจริงจังในประเทศไทย หรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย

ในกรณีที่คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้ยื่นครั้งแรกนอกราชอาณาจักรถูกปฏิเสธ  หรือผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนถอนคืนหรือละทิ้งคำขอ บุคคลดังกล่าวจะขอใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งไม่ได้

ในกรณีที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ถูกปฏิเสธ หรือคำขอที่ผู้ยื่นคำขอได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านอกราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก บุคคลซึ่งยื่นคำขอดังกล่าวจะขอใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งได้ เมื่อ

(1) คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคสามยังมิได้มีการขอใช้สิทธิในการระบุวันยื่นคำขอจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง และ

(2) คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามวรรคสามไม่อาจดำเนินการใดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าในประเทศที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ต่อไป และ

(3) การถูกปฏิเสธ ถอนคืน หรือถูกละทิ้งในครั้งแรกมิได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน"

มาตรา 10 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 28 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

"มาตรา 28 ทวิ ในกรณีที่มีการนำสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าใดออกแสดงในงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย โดยส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐของประเทศไทยหรือประเทศที่เป็นภาคีดังกล่าวจัดขึ้น หรือรัฐบาลไทยรับรองการจัดงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศนั้น เจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอาจขอใช้สิทธิตามมาตรา 28 วรรคหนึ่งได้ ถ้าเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าที่นำออกแสดงในงานแสดงสินค้าดังกล่าวในราชอาณาจักรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้นำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกแสดง หรือวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกนอกราชอาณาจักร แล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นก่อน แต่ทั้งนี้ การยื่นคำขอดังกล่าวต้องไม่เป็นการขยายระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 28

การจัดงานแสดงสินค้าที่จะถือเป็นงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศและการขอใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"

มาตรา 11 ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

มาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 31 ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ต่อคณะกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน

ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนมิได้อุทธรณ์คำสั่งตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้อุทธรณ์คำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว และคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าคำสั่งของนายทะเบียนถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนดังกล่าวต่อไปได้

ถ้าคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าคำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนไม่ถูกต้อง ให้นายทะเบียน

(1) ดำเนินการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นต่อไป ในกรณีที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ก่อนที่จะมีประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 29

(2) ดำเนินการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นใหม่ ในกรณีที่ได้มีการประกาศโฆษณาคำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียนตามมาตรา 30 วรรคสองแล้ว

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคสองหรือวรรคสามให้เป็นที่สุด"

มาตรา 13 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 33 ในกรณีตามมาตรา 32 ถ้านายทะเบียนยังมิได้มีคำวินิจฉัยคำคัดค้านนั้นให้รอการวินิจฉัยไว้ก่อนจนกว่าจะพ้นกำหนดเวลาการอุทธรณ์ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง หรือจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามมาตรา 31 วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี"

มาตรา 14 ให้ยกเลิกความในมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 36 ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา 35 ให้นายทะเบียนส่งสำเนาคัดค้านไปยังผู้ขอจดทะเบียนโดยไม่ชักช้า

ให้ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้านตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยแสดงเหตุที่ตนอาศัยเป็นหลักในการขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้าน และให้นายทะเบียนส่งสำเนาคำโต้แย้งนั้นไปยังผู้คัดค้านโดยไม่ชักช้า

ในกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนมิได้ดำเนินการตามวรรคสอง ให้ถือว่าผู้ขอจดทะเบียนละทิ้งคำขอจดทะเบียน

ในการพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้าน นายทะเบียนจะมีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนและผู้คัดค้านมาให้ถ้อยคำ ทำคำชี้แจง หรือแสดงหลักฐานเพิ่มเติมก็ได้ หากผู้ขอจดทะเบียนหรือผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง ให้นายทะเบียนพิจารณาและวินิจฉัยคำคัดค้านต่อไปตามหลักฐานที่มีอยู่"

มาตรา 15 ให้ยกเลิกความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 42 เมื่อได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายใดแล้ว ให้ถือว่าวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นวันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น สำหรับกรณีตามมาตรา 28 หรือมาตรา 28 ทวิ ให้ถือว่าวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนในราชอาณาจักร เป็นวันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น"

มาตรา 16 ให้ยกเลิกความในมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 61 ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนอาจร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใดได้ หากแสดงได้ว่าเครื่องหมายการค้านั้นในขณะที่จดทะเบียน

(1) มิได้เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7

(2) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8

(3) เป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน"

มาตรา 17 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

"คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคสองให้เป็นที่สุด"

มาตรา 18 ให้ยกเลิกความในมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 95 ให้มีคณะกรรมการเรียกว่า "คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า" ประกอบด้วยอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทนอัยการสูงสุดหรือผู้แทน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายหรือการพาณิชย์  และมีประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือเครื่องหมายการค้าไม่น้อยกว่าแปดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ

การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่ง ต้องแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง

คณะกรรมการจะแต่งตั้งบุคคลใดเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการก็ได้"

มาตรา 19 ให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(2) พิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการตามพระราชบัญญัตินี้"

มาตรา 20 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสี่ของมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

"กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาตามมาตรา 96 (1) หรือ (2) ห้ามมิให้กรรมการผู้นั้นเข้าร่วมประชุมในเรื่องดังกล่าว"

มาตรา 21 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 99 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

"มาตรา 99 ทวิ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 96 (1) หรือ (2)  คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และเมื่อดำเนินการแล้ว ให้รายงานต่อคณะกรรมการเพื่อมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อไป

ให้นำมาตรา 99 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องโดยอนุโลม"

มาตรา 22 ให้ยกเลิกความในมาตรา 101 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 101 การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียน และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง เครื่องหมายร่วม หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีกำหนด

วิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด"

มาตรา 23 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 106 ทวิ มาตรา 106 ตรี และมาตรา 106 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

"มาตรา 106 ทวิ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) เข้าไปในสถานที่ทำการ สถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย สถานที่รับซื้อ หรือสถานที่เก็บสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจหรือของบุคคลใด หรือสถานที่อื่นที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเข้าไปในยานพาหนะของบุคคลใด หรือสั่งเจ้าของหรือผู้คุมยานพาหนะให้หยุดหรือจอด เพื่อตรวจสอบให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อตรวจค้นและยึดพยานหลักฐานหรือทรัพย์สินที่อาจริบได้ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ต้องมีหมายค้นในกรณีดังต่อไปนี้

(ก) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำในสถานที่หรือยานพาหนะ

(ข) บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดซึ่งหน้าขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไป หรือมีเหตุอัน
แน่นแฟ้น  ควรสงสัยว่าได้ซุกซ่อนอยู่ในสถานที่หรือยานพาหนะ

(ค) เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าพยานหลักฐานหรือทรัพย์สินที่อาจริบได้ตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ในสถานที่หรือยานพาหนะ ประกอบทั้งมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้พยานหลักฐานหรือทรัพย์สินจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(ง) เมื่อผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าสถานที่หรือยานพาหนะ และการจับนั้นมีหมายจับหรือจับได้โดยไม่ต้องมีหมาย

ในการนี้ให้มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริง หรือเรียกบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นจากผู้ประกอบธุรกิจ เจ้าของ หรือผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือจากบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง ตลอดจนสั่งให้บุคคลดังกล่าวซึ่งอยู่ในสถานที่หรือยานพาหนะนั้นปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น

(2) ในกรณีที่มีหลักฐานชัดแจ้งเป็นที่เชื่อถือได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้มีอำนาจอายัดหรือยึดสินค้า ยานพาหนะ เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไปก่อนได้แต่ต้องรายงานต่ออธิบดีเพื่อให้ความเห็นชอบภายในสามวัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

มาตรา 106 ตรี ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 106 ทวิ นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 106 จัตวา ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา"

มาตรา 24 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 112 ทวิ และมาตรา 112 ตรี แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

"มาตรา 112 ทวิ ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 106 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 112 ตรี ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 106 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

มาตรา 25 ให้ยกเลิกความในมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 114 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการ การกระทำ หรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ต้องกระทำของกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย"

มาตรา 26 ให้ยกเลิก (2) ของอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

มาตรา 27 บรรดาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายรับรอง และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายร่วม ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นคำขอตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 28 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน  หลีกภัย

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัยที่นานาประเทศได้ทำความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและจัดตั้งองค์การการค้าโลกได้เสร็จสิ้นลงและมีผลใช้บังคับแล้ว ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกมีพันธกรณีที่จะต้องออกกฎหมายอนุวัติการให้สอดคล้องกับความตกลงดังกล่าว เพื่อให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดลักษณะของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแบะการดำเนินการที่เกี่ยวข้องการเก็บค่าธรรมเนียมในการโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า รวมทั้งเพิ่มเติมให้มีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กับเพิ่มเติมอำนาจของนายทะเบียนในส่วนของการพิจารณาคำคัดค้าน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

--ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 29 ก--