ความรู้และการออกแบบ

หน้าหลัก > ความรู้และการออกแบบ > สิ่งที่ต้องมีบนบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 7 / 9

สิ่งที่ต้องมีบนบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 7 / 9

17 November 2021

สิ่งที่ต้องมีบนบรรจุภัณฑ์ ตอนที่ 7 / 9

  

ข้อความหรือคำเตือนที่ต้องแสดงในฉลากที่กำหนดไว้ใน

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข

มีอาหารหลายประเภทที่มีการกำหนดข้อความหรือคำเตือนที่ต้องแสดงในฉลากอาหารไว้  ได้แก่

  1. น้ำมันและไขมันที่ไม่ใช้รับประทานแสดงข้อความว่า“ห้ามใช้รับประทาน”ด้วยอักษรสีแดง ขนาดไม่เล็กกว่า 1 เซนติเมตรในกรอบพื้นสีขาว สีของกรอบตัดกับสีพื้นของฉลาก

2.นมโค

2.1  นมข้นขาดมันเนยไม่หวาน นมข้นขาดมันเนยคืนรูปไม่หวานนมแปลงไขมันธรรมดา นมผงแปลงไขมัน นมข้นแปลงไขมันไม่หวาน นมผงพร่องมันเนย และนมผงขาดมันเนยแสดงข้อความว่า “อย่าใช้เลี้ยงทารก”ด้วยตัวอักษรเส้นทึบสีแดง ขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นขาว สีของกรอบตัดกับสีพื้นของฉลาก

2.2  นมข้นหวาน นมข้นคืนรูปหวาน นมข้นขาดมันเนยหวานนมข้นขาดมันเนยคืนรูปหวาน และนมข้นแปลงไขมันหวาน แสดงข้อความว่า “อย่าใช้เลี้ยงทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี”ด้วยตัวอักษรเส้นทึบสีแดง ขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นสีขาวสีของกรอบตัดกับสีพื้นของฉลาก

  1. แป้งข้าวกล้องแสดงข้อความว่า“อย่าใช้เลี้ยงทารกแทนนม”ด้วยตัวอักษรสีแดง ขนาดไม่เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร และต้องมีสีตัดกับสีพื้นฉลาก ไว้ใต้คำว่า “แป้งข้าวกล้อง”
  2. น้ำแข็ง

4.1 น้ำแข็งใช้รับประทาน ต้องแสดงข้อความว่า“น้ำแข็งใช้รับประทานได้”ด้วยอักษรสีน้ำเงิน ไม่เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร

4.2  น้ำแข็งที่มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากให้ใช้รับประทาน ต้องแสดงข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานไม่ได้” ด้วยอักษรสีแดงขนาดไม่เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร

  1. วุ้นสำเร็จรูป แสดงข้อความว่า “เด็กควรบริโภคแต่น้อย”ด้วยอักษรสีแดง ขนาด 5 มิลลิเมตร ในกรอบพื้นสีขาว
  2. เครื่องดื่มเกลือแร่ ให้แสดงข้อความตามข้างล่างตัวอักษรขนาดไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร ในกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงพื้นสีขาว

(1)  เด็กและทารกไม่ควรรับประทาน

         (2)  เฉพาะผู้ที่สูญเสียเหงื่อจาการออกกำลังกายเท่านั้น

(3)  ไม่ควรรับประทานเกินวันละ...หน่วย(ความที่เว้นไว้ให้ระบุจำนวนหน่วยบริโภค รวมแล้วไม่เกินวันละ 1 ลิตร)

  1. อาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

          7.1 อาหารที่ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักใช้กินแทนอาหารที่ใช้กินตามปกติใน 1 มื้อ หรือมากกว่า 1 มื้อ หรือแทนอาหารทั้งวัน ให้แสดงข้อความว่า ไม่น้อยกว่า 5 มิลลิเมตร

              7.1.1 “กินอาหารนี้ด้วยมิได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการบำบัดอาจเกิดอันตราย ”ด้วยอักษรเส้นอักษรทึบสีแดงขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 5 มิลลิกรัม

              7.1.2  “ใช้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น”

              7.1.3  “ควรกินวันละไม่ต่ำกว่า 800 กิโลแคลอรี่ (3344 กิโลจูล)

          7.2 อาหารลดพลังงาน และอาหารพลังงานต่ำ ให้แสดงข้อความ

7.2.1  “ห้ามกินแทนอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง” ด้วยตัวอักษรเส้นทึบสีแดง ขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 5 มิลลิเมตร

              7.2.2“กินอาหารนี้ด้วยมิได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการบำบัดอาจเกิดอันตราย”ด้วยอักษรเส้นอักษรทึบสีแดงขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 5 มิลลิกรัม

              7.2.3  “ใช้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น”

  1. น้ำแร่ ให้แสดงคำเตือนด้วยอักษรขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร เห็นได้ชัดเจนในกรอบสี่เหลี่ยม สีแดงพื้นขาว ดังนี้

          8.1 “เด็กและหญิงมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณของแข็งละลาย (Total dissolved solids) มากกว่า 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

          8.2 “อาจมีฤทธิ์ถ่ายท้อง” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณซัลเฟต (ยกเว้นแคลเซียมซัลเฟต) มากกว่า 600 มิลลิกรัม ต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

          8.3 “มีสภาพเป็นด่าง” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณไบคาร์บอเนต มากกว่า 600 มิลลิกรัม ต่อน้ำแร่1 ลิตร

          8.4 “มีสภาพเป็นกรด” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 250 มิลลิกรัม ต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

          8.5 “มีเกลือสูง” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณโซเดียมคลอไรด์มากกว่า 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

          8.6 “มีธาตุเหล็กสูง” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณเหล็กมากกว่า 5 มิลลิกรัม ต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

          8.7 “มีธาตุไอโอดีนสูง” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณไอโอดีนมากกว่า 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

          8.8 “อาจมีผลให้ปัสสาวะมากกว่าปกติ” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณของแข็งละลายมากกว่า1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำแร่ 1 ลิตร หรือปริมาณไบคาร์บอเนตมากกว่า 600 มิลิกรัม ต่อน้ำแร่ 1 ลิตร

          8.9 “มีฟลูออไรด์สูง” สำหรับน้ำแร่ที่มีปริมาณฟลูออไรด์มากกว่า 1 มิลลิกรัม ต่อน้ำแร่ 1ลิตร

  1. ข้าวเติมวิตามิน แสดงคำแนะนำดังนี้

          “ไม่ควรล้างน้ำเพื่อให้วิตามินสูญหาย” และ “เก็บในที่แห้งและไม่ถูกแสงแดด”

  1. เกลือบริโภค แสดงข้อความว่า

          “ควรเก็บในที่ร่มและแห้ง”

  1. นมดัดแปลงสำหรับทารกและอาหารทารก แสดงข้อความดังนี้

          “สิ่งสำคัญที่ควรทราบ

          - นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน

          - ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล หรือนักโภชนาการ

          - เตรียมหรือใช้ส่วนผสมไม่ถูกต้องจะเป็นอันตรายต่อทารก”

  1. นมดัดแปลงและอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก แสดงข้อความว่า

          “อย่าใช้เลี้ยงทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน” ด้วยอักษรเส้นทึบสีแดง ขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นสีขาว สีของกรอบตัดกับพื้นของฉลาก

  1. อาหารที่มีวัตถุที่ใช้เพื่อรักษาคุณภาพหรือมาตรฐานของอาหารรวมอยู่ในภาชนะบรรจุ แสดงข้อความว่า

“มี..............” ความที่เว้นไว้ให้ระบุลักษณะของภาชนะบรรจุและชนิดของวัตถุที่ใช้เพื่อรักษาคุณภาพหรือมาตรฐานของอาหาร เช่น ซองวัตถุกันชื้น ซองวัตถุดูดออกซิเจน เป็นต้น ด้วยอักษรสีแดง ขนาดตัวอักษรไม่ต่ำกว่า 3 มิลลิเมตร บนพื้น
สีขาว

  1. อาหารที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ แสดงข้อความว่า

          “เด็กไม่ควรรับประทาน” “ไม่ใช่อาหารทางการแพทย์” และ “หยุดบริโภคเมื่อมีอาการผิดปกติ” ด้วยอักษรสีแดงขนาดตัวอักษรไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิเมตร เห็นได้ชัดเจนในกรอบสี่เหลี่ยม สีของกรอบตัดกับสีพื้นฉลาก

 

ข้อความหรือคำเตือนที่ต้องแสดงในฉลากที่กำหนดไว้ใน

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

        ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดข้อความที่ต้องแสดงในฉลากของอาหารบางชนิด มีจำนวน 5 ฉบับ ได้แก่

  1. ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2525) มีการยกเว้นเรื่องสูตรส่วนประกอบของอาหาร การแสดงข้อความในฉลากของอาหารบางชนิด เช่น อาหารทารก นมโค อาหารผู้ป่วยนอก
  2. ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2525) มีการกำหนดข้อความที่ต้องแสดงของ น้ำบีเอ็กซ์ น้ำแข็ง น้ำมันและไขมัน และเครื่องดื่มเกลือแร่ (ซึ่งข้อความจะขัดกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขก็ให้ยึดประกาศกระทรวงสุขเป็นหลัก)
  3. ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2528) มีการกำหนดชื่อของนมปรุงแต่งที่ผลิตจากนมคืนรูป
  4. ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2534) มีการกำหนดข้อความในฉลากของเครื่องดื่มที่ผสมแคฟเฟอีน
  5. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดข้อความที่ต้องแสดงในฉลากของรอยัลเยลลี่และผลิตภัณฑ์รอเยลลี่

        การกำหนดข้อความ หรือยกเว้นการแสดงข้อความบางอย่างตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทั้ง 5 ฉบับ พอสรุปได้ดังนี้

          1.ชื่ออาหาร “นมคืนรูปปรุงแต่ง” (Recombined Flavored Milk) สำหรับนมปรุงแต่งที่ผลิตจากนมคืนรูป

  1. สูตรส่วนประกอบ

              2.1 แสดงเฉพาะส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร โดยไม่ต้องแจ้งปริมาณเป็นร้อยละของน้ำหนัก ได้แก่ ฟรุตคอกเทล และฟรุตสลัด             

              2.2 ยกเว้นไม่ต้องแสดงส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร ได้แก่

                  2.2.1 เครื่องดื่มและน้ำนมถั่วเหลืองที่แสดงฉลาก โดยวิธีพิมพ์ พ่น ประทับ หรือโดยวิธีอื่นใดในทานองเดียวกันที่ภาชนะบรรจุที่เป็นแก้วเท่านั้น

                  2.2.2 น้ำในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือออกซิเจนผสมอยู่ด้วย หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า โซดา

                  2.2.3 อาหารที่มีส่วนประกอบที่สำคัญเพียงอย่างเดียว โดยไม่รวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร

                  ทั้งนี้ไม่รวมถึงน้ำแข็ง น้ำแร่  น้ำที่เหลือจากการผลิตโมโนโซเดียม
กลูตาเมต

                  2.2.4 อาหารที่มีเนื้อที่ของฉลากทั้งแผ่นน้อยกว่า 35 ตารางเซนติเมตร แต่ทั้งนี้จะต้องมีข้อความแสดงส่วนประกอบที่สำคัญไว้บนหีบห่ออาหาร ดังกล่าวแล้ว

              2.3 แสดงส่วนประกอบที่สำคัญเมื่อเจือจางหรือทำลายตามวิธีปรุงเพื่อรับประทานตามที่แจ้งไว้บนฉลาก ได้แก่ เครื่องดื่มชนิดเข้มข้นหรือชนิดแห้ง

  1. การแสดงวันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้

              3.1 ต้องแสดงวัน เดือน ปีที่หมดอายุการใช้ ได้แก่

                  3.1.1 นมดัดแปลงสำหรับทารก

                  3.1.2 นมเปรี้ยว

                  3.1.3 อาหารเสริมสำหรับเด็ก

                  3.1.4 อาหารทารก

                  3.1.5 นมผงธรรมดาที่มีวัตถุประสงค์จะใช้เลี้ยงทารก

3.1.6 อาหารที่ผ่านกรรมวิธีพาสเจอร์ไรส์ เช่น นมสดพาสเจอร์ไรส์       นมแปลงไขมันพาสเจอร์ไรส์ นมสดคืนรูปพาสเจอร์ไรส์ นมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ ผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ เป็นต้น

3.1.7 อาหารที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า แจ้งความจำนงจะแสดงวันเดิอนปีที่หมดอายุการใช้

              3.2 ไม่ต้องแสดงวันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้งาน

                  3.2.1 เครื่องดื่มและน้ำนมถั่วเหลือง ที่แสดงฉลาก โดยวิธีพิมพ์ พ่น ประทับ หรือโดยวิธีอื่นในทำนองเดียวกันที่ภาชนะบรรจุที่เป็นแก้ว เท่านั้น

3.2.2 น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท

3.2.3 น้ำในภาชนะที่ปิดสนิทที่มีกาซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือออกซิเจนผสมอยู่ด้วย หรือที่เรียกว่า โซดา

3.2.4 ไอศกรีม

  1. แสดงข้อความ “สำหรับทารกที่มีระบบย่อยผิดปกติ และแพ้นมวัว” หรือ “สำหรับทารกที่มีระบบการย่อยผิดปกติ” ด้วยอักษรเส้นทึบขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 3 มิลลิเมตร ได้แก่ อาหารทารก นมดัดแปลงสำหรับทารกที่มีวัตถุประสงค์จะต้องใช้กับทารกที่มีความผิดปกติในการย่อยและดูดซึมอาหาร
  2. แสดงข้อความ “เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีระบบการย่อยและดูดซึมผิดปกติ” ด้วยอักษรเส้นทึบขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 3 มิลลิเมตร ได้แก่ อาหารทีมีวัตถุประสงค์ จะใช้กับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความผิดปกติในการย่อยและดูดซึมอาหาร
  3. เครื่องดื่มที่ผสมแคฟเฟอีน ต้องระบุคำเตือนที่ฉลากว่า “ห้ามดื่มเกิน
    วันละ 2 ขวด หัวใจสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน” ด้วยตัวอักษรเส้นทึบสีแดงขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร ในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นขาวสีของกรอบตัดกับสีพื้นของฉลาก
  4. การแสดงข้อความในฉลากของน้ำที่เหลือจากการผลิตโมโนโซเดียม
    กลูตาเมต หรือน้ำบีเอ็กซ์ ต้องมีข้อความต่อไปนี้

7.1 ชื่ออาหารโดยแสดงข้อความว่า “น้ำที่เหลือจากการผลิตโมโนโซเดียมกลูตาเมต” ด้วยอักษรเส้นทึบขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 5 มิลลิเมตร และตัดกับสีพื้นของฉลาก

7.2 ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุเพื่อจำหน่าย หรือแสดงสำนักงานใหญ่ก็ได้ กรณีนำเข้าให้แสดงประเทศผู้ผลิตด้วย

  1. การแสดงเลขทะเบียนตำรับอาหารต้องแสดงในกรอบพื้นสีขาวสีของกรอบตัดกับสีพื้นของฉลาก และมีแบบดังนี้ ขนาดความสูงของตัวอักษรที่แสดงเลขทะเบียนตำรับอาหาร ต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ของฉลากแต่ต้องไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร
  2. อาหารที่ผลิตเพื่อส่งออก เครื่องดื่มและน้ำนมถั่วเหลืองที่แสดงฉลาก โดยวิธีพิมพ์ พ่น ประทับ หรือโดยวิธีอื่นใดทำนองเดียวกันที่ภาชนะบรรจุที่เป็นแก้วเท่านั้น ได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงเลขทะเบียนตำรับอาหารตามที่กำหนดในข้อ 12
  3. คำเตือนในฉลากรอยัลเยลลีและผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี “ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดหรือโรคภูมิแพ้ไม่ควรรับประทาน เพราะอาจเกิดอาการแพ้รุนแรง” ด้วยตัวอักษรเส้นทึบสีแดง ขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 3 มิลลิเมตร ในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นสีขาว สีของกรอบตัดกับสีพื้นของฉลาก

หมายเหตุ ข้อความที่ต้องแสดงในฉลากให้ศึกษาในประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องอาหารนั้นๆเพิ่มเติมด้วย

 

ข้อความและคำเตือนแสดงในฉลากที่กำหนดในเกณฑ์การพิจารณา

1.คำเตือนในฉลากบีพอลเลน

          “คำเตือน สำหรับผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ ห้ามรับประทาน”

2.ข้อความที่แสดงในฉลากส่าหร่ายสไปรูลิน่า และส่าหร่ายคลอเรลลา

          “สำหรับผู้ที่ต้องการโปรตีนจากส่าหร่ายและใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์”

3.ข้อความที่แสดงในฉลากผลิตภัณฑ์เส้นใย

“ใน 1 เม็ด (หรือแคปซูล) มีเส้นใยอาหาร...........มิลลิกรัม”

4.ข้อความที่แสดงในฉลากผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลแอลกอฮอล์ (เช่น ซอร์บิทอล ไซลิทอล เป็นต้น )

          “1.ไม่ควรให้เด็กรับประทาน

            2.ไม่ใช้อาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก

            3.รับประทานวันละไม่เกิน ....................  หากรับประทานเกินขนาดอาจมีฤทธิ์ถ่ายท้องได้”

(โดยคำนวณปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่บริโภคต่อวันให้มีปริมาณน้ำตาลแอลกอฮอล์ไม่เกินปริมาณ    ที่กำหนดต่อวัน เช่น ซอร์บิทอลไม่เกิน 30 กรัมต่อวัน  ไซลิทอลไม่เกิน 25 กรัมต่อวัน )

5.ข้อความที่แสดงในฉลากผลิตภัณฑ์ที่มีแอสปาเทม

          “ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย”

          “Unsuitable for phenylketonuria”(หากประสงค์จะแสดงเป็นภาษาอังกฤษ)

6.ข้อความที่แสดงในฉลากผลิตภัณฑ์ที่มีอะซิเฟม-เค

          “ไม่ควรให้เด็กรับประทาน ไม่ใช้สารอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก”

7.ข้อความที่แสดงในฉลากผลิตภัณฑ์ที่มีซัคคาริน

          “การใช้ผลิตภัณฑ์นี้อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เนื่องจากซัคคารินทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง”ด้วยอักษรสีแดงขนาดไม่เล็กกว่า 2 มิลลิกรัม ในกรอบสี่เหลี่ยมพื้นสีขาว

หมายเหตุ ข้อความหรือคำเตือนใดที่มิได้ระบุสีและขนาดของอักษรไว้ให้แสดงด้วยอักษรที่มีขนาดและสีเห็นได้ชัดเจน